http://thaiherbsbeauty.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 HOME

 PRODUCT

 ORDER / PAYMENT

 WEBBOARD

 DELIVERY STATUS

 CONTACT US

สถิติ

เปิดเว็บ27/03/2009
อัพเดท23/09/2021
ผู้เข้าชม254,410
เปิดเพจ395,015

สมุนไพร ใกล้ตัว

บทความที่น่าสนใจ

ข่าว สมุนไพร

Q & A

ปฎิทิน

« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      

บริการ

หน้าแรก
Hot Items
เว็บบอร์ด
iGetWeb.com
AdsOne.com

ขี้เหล็ก (Cassod)


 
       ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia siamea Britt. 
       ชื่อวงศ์ Caeslpiniaceae
       ชื่อสามัญ Cassod Tree, Thai Copper Pod
       ชื่อท้องถิ่น ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง) ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลาง) ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ) ผักจี้ลี้ (เงี้ยง-แม่ฮ่องสอน) ยะหา (ปัตตานี) ขี้เหล็กจิหรี่ (ภาคใต้)
 
       จาก เหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันที่มีแต่เรื่องของความวุ่นวายก็คงจะสร้างความ รู้สึกเครียด กังวล หรือกดดันต่าง ๆ มากมาย ประกอบกับแต่ละวันแทบจะไม่มีเวลาหาวิธีผ่อนคลายความรู้สึกแย่ ๆ เหล่านั้น ซึ่งสำหรับคอลัมน์สมุนไพรนี้ ผมจึงมีวิธีการคลายเครียดแบบง่าย ๆ แต่อาจยากสักหน่อยกับคนที่ไม่ชอบรับประทานอาหารอย่าง “ขี้เหล็ก” ครับ 
 
       ลักษณะทางพฤษศาสตร์
       “ขี้เหล็ก” เป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีใบเขียวตลอดปีและไม่ผลัดใบเมื่อโตเต็มที่ สูงประมาณ 8-18 เมตร ลำต้นไม่ค่อยจะเปลาตรงนัก เปลือกบางเรียบมีสีเทาปนน้ำตาลหรือเขียวปนเทา เมื่อแก่เปลือกนอกอาจ มีสีดำและแตกเป็นเกล็ดตามบริเวณโคนต้น โดยปกติไม้ขี้เหล็กมีกิ่งก้านสาขามากแตกออกรอบลำต้นทุกทิศทาง เรือนยอดแผ่ขยายเป็นพุ่ม
       ใบ เป็นช่อแบบขนนกติดเรียงสลับ ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร แต่ละช่อมีใบย่อยรูปขอบขนานแคบ ๆ กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3.5 เซนติเมตร รูปทรงของใบทั้งหมดเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ก้านใบยาว 10–20 เซนติเมตร มีใบย่อย 7–10 คู่ ก้านใบย่อยยึดติดกับก้านใบใหญ่เป็นคู่ ออกตรงข้าม ใบอ่อนเป็นขนสั้น ๆ เมื่อใบแก่มาก ๆ ขนนี้จะหายไป ใบย่อยที่อยู่ปลายสุดของช่อจะเป็นใบเดี่ยว เนื้อใบเนียนค่อนข้างบาง สีเขียวเข้มเป็นมัน ไม่มีขน โคนใบสอบแคบเข้าเล็กน้อย ปลายใบมนหรือหยักเว้าเข้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ
       ผล มีลักษณะเป็นฝักแบน ๆ กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มีสีน้ำตาลและฝักโค้งเล็กน้อย แต่ละฝักมีเมล็ด 20–30 เมล็ด เรียงตัวตามขวาง และผลจะแก่เต็มที่ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ส่วนเมล็ดมีขนาดประมาณ 3 x 7 มิลลิเมตร รูปรี แบน สีน้ำตาลเข้มหรือดำ ถ้านำมาชั่ง 1 กิโลกรัม จะมีเมล็ดประมาณ 20,000–25,000 เมล็ด
       ดอก สีเหลืองออกรวมกันเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่ง ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ก้านช่อย่อยมักติดสลับเวียนกัน กลุ่มที่อยู่ทางโคนช่อใหญ่จะมีก้านช่อยาวกว่ากลุ่มดอกจะไปรวมกัน ตามบริเวณปลายช่อย่อย แต่ละกลุ่มมีมากกว่า 10 ดอก ดอกจะออกตามปลายกิ่งเป็นกลุ่มตามความยาวกิ่ง ซึ่งบานไม่พร้อมกัน โดยจะบานจากดอกที่อยู่โคนช่อไปสู่ปลายช่อ และออกดอกระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม
       รสและกลิ่น มีรสขม
       ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบอ่อนและดอก
       ช่วงเวลาที่ใช้เป็นยา คือช่วงที่มีใบอ่อนและมีดอก  
 
       ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
       ทั้งใบอ่อนและดอกของต้นขี้เหล็ก พบว่า มีสารจำพวก Chromone มีชื่อว่า Barakol ส่วนในใบพบสาร Amthraquinones (Rhein, Sennoside Chrysophanol, Aloe-emodin), Alkaloid และสารอีกหลายชนิด
       จากการศึกษาพบว่าใบออกฤทธิ์เป็นยาระบายเพราะมีสาร Anthraquinone โดยทางคณะแพทย์ศิริราชพยาบาลได้ศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่า สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ของใบขี้เหล็กนี้มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้สัตว์ทดลองมีอาการซึม เคลื่อนไหวช้า ชอบซุกตัวแต่ไม่หลับ และศึกษาโดยใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับ พบว่า สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากใบขี้เหล็กมีฤทธิ์สงบประสาทได้ดี ช่วยให้นอนหลับสบายและระงับอาการตื่นตัวทางประสาทได้ แต่ไม่ใช่ยานอนหลับโดยตรง
       ทั้งนี้ก็มีการพบรายงานอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้สมุนไพรขี้ เหล็กเกี่ยวกับภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งการศึกษาในเบื้องต้นพบว่า มีความสัมพันธ์กับการรับประทานยาสมุนไพรขี้เหล็กเม็ดเพื่อการนอนหลับ อย่างไรก็ดี ข้อมูลดังกล่าวนี้ยังไม่สามารถยืนยันว่าเกิดขึ้นจริงจึงต้องมีการพิสูจน์ต่อ ไป
 
       สารพันประโยชน์ของขี้เหล็ก 
       ไม้ขี้เหล็กนั้นแต่เดิมเป็นไม้ในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับจาก หมู่เกาะต่าง ๆ ของประเทศอินโดนีเซียไปจนถึงประเทศศรีลังกา ต่อมามีผู้นำไม้ขี้เหล็กไปปลูกในบริเวณต่าง ๆ มากขึ้น
       ประโยชน์ของ “ขี้เหล็ก” ก็มีอยู่มาก ไม่ว่าจะใช้เป็นไม้ประดับตามบ้านเรือนหรือริมถนน เพราะขี่เหล็กมีดอกสีเหลืองสวยงามและให้ร่มเงาหรือบังลมได้ดี ส่วนเนื้อไม้ของขี้เหล็กก็สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง โดย ทำเป็นฟืนที่ให้พลังความร้อนสูงถึง 4500 แคลอรี/กรัม แต่สำหรับไม้ที่มีอายุ 10-15 ปีขึ้นไป สามารถนำไปใช้ก่อสร้างได้ดีทีเดียว เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง มีสีเหลืองเข้มปนน้ำตาลจนถึงดำ หรือใช้เป็นอาหาร โดยดอกและดอกอ่อนของขี้เหล็กใช้รับประทานได้ เมนูเด็ดก็นี่เลยครับ แกงขี้เหล็ก ที่ปรุงด้วยพริกแกงและกะทิ รสชาติกลมกล่อมหวานมันซ่อนขมเล็กน้อย ซึ่งรสขม ๆ ของขี้เหล็กนั้นช่วยทำให้เจริญอาหาร นอกจากนี้ ยังมีคุณค่าทางสารอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่ วิตามินเอและซี บำรุงสายตา เหงือก ฟัน กระดูก ผิวพรรณ ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรค ทำให้แผลหายเร็วขึ้น มีเบต้า-แคโรทีนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง มีเส้นใยอาหารช่วยในการขับถ่าย เป็นต้น
       โดยเฉพาะประโยชน์ทางด้านสมุนไพร ขี้เหล็กสามารถช่วยคลายเครียดได้ เพราะส่วนใบอ่อนและ ดอกตูมของต้นขี้เหล็กมีสารที่ชื่อว่า แอนไฮโดรบาราคอล (anhydrobarakol) ซึ่งมีสรรพคุณช่วยในการคลายความเครียด ส่วนสารอัลคาลอยด์ในใบขี้เหล็กมีฤทธิ์กล่อมประสาททำให้นอนหลับสบายขึ้น ประกอบกับ การพยายามศึกษาค้นคว้าทางการแพทย์ก็พบว่า สมุนไพรขี้เหล็กมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งช่วยคลายเครียด บรรเทาอาการจิตฟุ้งซ่าน ดังนั้น ขี้เหล็กจึงเป็นสมุนไพรที่เหมาะจะนำมาพัฒนาเป็นยาช่วยคลายเครียดได้ดี และเหมาะกับสภาพของผู้คนในปัจจุบันที่มีความเครียด วิตกกังวล นอนไม่ค่อยหลับเป็นประจำอันจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจ ทำให้ที่ผ่านมาได้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้นำสารสกัดขี้เหล็กมาใช้กับผู้ป่วย ที่มีปัญหาเป็นโรคนอนไม่หลับ 8 คน ก็พบว่า ช่วยให้นอนหลับได้ดีตลอดคืน จึงสรุปได้ว่าขี้เหล็กมีฤทธิ์เป็นยาสงบระงับได้ นอกจากนี้ ในขี้เหล็กยังมีฤทธิ์เป็นยาระบาย อ่อน ๆ ซึ่งช่วยแก้อาการท้องผูกและการขับถ่ายดีขึ้นด้วย
 
       สรรพคุณทางยาและวิธีใช้ 
       - แก้อาการนอนไม่หลับ คลายกังวล ให้ใช้ใบแห้ง 30 กรัม หรือใบสด 50 กรัม ต้มกับน้ำให้เดือด รินดื่มขณะร้อนก่อนนอน หรือใช้ใบอ่อนดองเหล้าพอท่วม แช่ไว้ประมาณ 7 วัน โดยหมั่นคนบ่อย ๆ ทุกวัน เพื่อให้น้ำยาสม่ำเสมอ แล้วกรองเอากากออกดื่ม ครั้งละ 1-2 ช้อนชา ก่อนนอน ทั้งยังช่วยให้เจริญอาหาร
       - แก้อาการท้องผูก ใช้ใบอ่อน และแก่ประมาณ 4-5 กำมือ ต้มกับน้ำพอท่วม เติมเกลือเล็กน้อย ต้มจนน้ำเดือนประมาณครึ่งชั่วโมง ดื่มน้ำก่อนนอน หรือตื่นนอนตอนเช้าหรือก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ
       - แก้อาการเบื่ออาหาร ใช้ใบยอดอ่อนและดอก ต้มในน้ำเดือดโดยเคี่ยวนาน 5-10 นาที แล้วเทน้ำทิ้งและต้มใหม่ จึงนำเนื้อมาจิ้มน้ำพริกหรือทำเป็นแกงรับประทาน
       - หรือให้นำใบ ดอก ผล ต้นและราก ของขี้เหล็กทั้ง 5 ส่วนนี้มาต้มรวมกัน แล้วนำเฉพาะน้ำมาดื่มก็จะช่วยถ่ายพิษกระษัยและพิษไข้ได้ดี
       - ในด้านความสวยแล้ว ขี้เหล็กยังช่วยดูแลรักษาใบหน้าให้สวยใสจากสูตรนี้ ยอดขี้เหล็ก ? ถ้วย น้ำผึ้งแท้ ? ถ้วย และยอดมะขาม ? ถ้วย โดยนำยอดขี้เหล็กและยอดมะขามแขกมาล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วปั่นรวมกับน้ำผึ้งแท้จนละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน ก็จะได้ครีมเนื้อข้นและเหนียว ใช้สำหรับนำมาพอกหน้าที่สะอาดแล้วก่อนเข้านอน ให้พอกทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที จึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด จะรู้สึกว่าผิวหน้าสดชื่นและเต่งตึงขึ้น ทั้งนี้ควรทำเป็นประจำสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ซึ่งในเวลาไม่ถึงเดือน เราจะสังเกตเห็นว่าผิวหน้าเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
 
       ข้อเสนอแนะและข้อควรระวัง 
       1. เมื่อนำขี้เหล็กนี้มาสมุนไพร ซึ่งใช้ในการรักษาอาการท้องผูกนั้น ห้ามใช้เป็นประจำหรือบ่อยเกินไป โดยเฉพาะเพื่อจุดประสงค์ต้องการให้รูปร่างระหง แล้วควรรับประทานยาสมุนไพรในเวลาก่อนนอน
       2. ขนาดของการใช้อาจเพิ่มหรือลดลงได้เล็กน้อย ขึ้นอยู่กับ “อายุ” อย่างเด็กหรือผู้ที่มีธาตุเบา ควรใช้สมุนไพรขนาดลดลง ส่วนผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวหรอืผู้ที่มีธาตุหนัก ควรเพิ่มสมุนไพรเล็กน้อย
       3. นอกจากนี้ ห้ามใช้ในบุคคลที่กำลังตั้งครรภ์แก่และผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
 
       ขี้ เหล็กเป็นผักพื้นบ้านและเป็นอาหารพื้นเมืองของไทย ที่ปลูกได้ง่ายและสามารถเติบโตได้เองตามธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องดูแลเอาใจ ใส่มากนัก จึงเป็นยาสมุนไพรที่ปลอดสารพิษมากคุณค่าทางสารอาหารและยา เราจึงควรหันมาส่งเสริมการบริโภคให้แพร่หลายมากขึ้น 
view
view