|
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia siamea Britt. ชื่อวงศ์ Caeslpiniaceae ชื่อสามัญ Cassod Tree, Thai Copper Pod ชื่อท้องถิ่น ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง) ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลาง) ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ) ผักจี้ลี้ (เงี้ยง-แม่ฮ่องสอน) ยะหา (ปัตตานี) ขี้เหล็กจิหรี่ (ภาคใต้) |
จาก เหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันที่มีแต่เรื่องของความวุ่นวายก็คงจะสร้างความ รู้สึกเครียด กังวล หรือกดดันต่าง ๆ มากมาย ประกอบกับแต่ละวันแทบจะไม่มีเวลาหาวิธีผ่อนคลายความรู้สึกแย่ ๆ เหล่านั้น ซึ่งสำหรับคอลัมน์สมุนไพรนี้ ผมจึงมีวิธีการคลายเครียดแบบง่าย ๆ แต่อาจยากสักหน่อยกับคนที่ไม่ชอบรับประทานอาหารอย่าง “ขี้เหล็ก” ครับ |
ลักษณะทางพฤษศาสตร์ “ขี้เหล็ก” เป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีใบเขียวตลอดปีและไม่ผลัดใบเมื่อโตเต็มที่ สูงประมาณ 8-18 เมตร ลำต้นไม่ค่อยจะเปลาตรงนัก เปลือกบางเรียบมีสีเทาปนน้ำตาลหรือเขียวปนเทา เมื่อแก่เปลือกนอกอาจ มีสีดำและแตกเป็นเกล็ดตามบริเวณโคนต้น โดยปกติไม้ขี้เหล็กมีกิ่งก้านสาขามากแตกออกรอบลำต้นทุกทิศทาง เรือนยอดแผ่ขยายเป็นพุ่ม ใบ เป็นช่อแบบขนนกติดเรียงสลับ ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร แต่ละช่อมีใบย่อยรูปขอบขนานแคบ ๆ กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3.5 เซนติเมตร รูปทรงของใบทั้งหมดเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ก้านใบยาว 10–20 เซนติเมตร มีใบย่อย 7–10 คู่ ก้านใบย่อยยึดติดกับก้านใบใหญ่เป็นคู่ ออกตรงข้าม ใบอ่อนเป็นขนสั้น ๆ เมื่อใบแก่มาก ๆ ขนนี้จะหายไป ใบย่อยที่อยู่ปลายสุดของช่อจะเป็นใบเดี่ยว เนื้อใบเนียนค่อนข้างบาง สีเขียวเข้มเป็นมัน ไม่มีขน โคนใบสอบแคบเข้าเล็กน้อย ปลายใบมนหรือหยักเว้าเข้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ผล มีลักษณะเป็นฝักแบน ๆ กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มีสีน้ำตาลและฝักโค้งเล็กน้อย แต่ละฝักมีเมล็ด 20–30 เมล็ด เรียงตัวตามขวาง และผลจะแก่เต็มที่ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ส่วนเมล็ดมีขนาดประมาณ 3 x 7 มิลลิเมตร รูปรี แบน สีน้ำตาลเข้มหรือดำ ถ้านำมาชั่ง 1 กิโลกรัม จะมีเมล็ดประมาณ 20,000–25,000 เมล็ด ดอก สีเหลืองออกรวมกันเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่ง ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ก้านช่อย่อยมักติดสลับเวียนกัน กลุ่มที่อยู่ทางโคนช่อใหญ่จะมีก้านช่อยาวกว่ากลุ่มดอกจะไปรวมกัน ตามบริเวณปลายช่อย่อย แต่ละกลุ่มมีมากกว่า 10 ดอก ดอกจะออกตามปลายกิ่งเป็นกลุ่มตามความยาวกิ่ง ซึ่งบานไม่พร้อมกัน โดยจะบานจากดอกที่อยู่โคนช่อไปสู่ปลายช่อ และออกดอกระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม รสและกลิ่น มีรสขม ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบอ่อนและดอก ช่วงเวลาที่ใช้เป็นยา คือช่วงที่มีใบอ่อนและมีดอก |
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ทั้งใบอ่อนและดอกของต้นขี้เหล็ก พบว่า มีสารจำพวก Chromone มีชื่อว่า Barakol ส่วนในใบพบสาร Amthraquinones (Rhein, Sennoside Chrysophanol, Aloe-emodin), Alkaloid และสารอีกหลายชนิด จากการศึกษาพบว่าใบออกฤทธิ์เป็นยาระบายเพราะมีสาร Anthraquinone โดยทางคณะแพทย์ศิริราชพยาบาลได้ศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่า สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ของใบขี้เหล็กนี้มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้สัตว์ทดลองมีอาการซึม เคลื่อนไหวช้า ชอบซุกตัวแต่ไม่หลับ และศึกษาโดยใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับ พบว่า สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากใบขี้เหล็กมีฤทธิ์สงบประสาทได้ดี ช่วยให้นอนหลับสบายและระงับอาการตื่นตัวทางประสาทได้ แต่ไม่ใช่ยานอนหลับโดยตรง ทั้งนี้ก็มีการพบรายงานอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้สมุนไพรขี้ เหล็กเกี่ยวกับภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งการศึกษาในเบื้องต้นพบว่า มีความสัมพันธ์กับการรับประทานยาสมุนไพรขี้เหล็กเม็ดเพื่อการนอนหลับ อย่างไรก็ดี ข้อมูลดังกล่าวนี้ยังไม่สามารถยืนยันว่าเกิดขึ้นจริงจึงต้องมีการพิสูจน์ต่อ ไป |
สารพันประโยชน์ของขี้เหล็ก ไม้ขี้เหล็กนั้นแต่เดิมเป็นไม้ในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับจาก หมู่เกาะต่าง ๆ ของประเทศอินโดนีเซียไปจนถึงประเทศศรีลังกา ต่อมามีผู้นำไม้ขี้เหล็กไปปลูกในบริเวณต่าง ๆ มากขึ้น ประโยชน์ของ “ขี้เหล็ก” ก็มีอยู่มาก ไม่ว่าจะใช้เป็นไม้ประดับตามบ้านเรือนหรือริมถนน เพราะขี่เหล็กมีดอกสีเหลืองสวยงามและให้ร่มเงาหรือบังลมได้ดี ส่วนเนื้อไม้ของขี้เหล็กก็สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง โดย ทำเป็นฟืนที่ให้พลังความร้อนสูงถึง 4500 แคลอรี/กรัม แต่สำหรับไม้ที่มีอายุ 10-15 ปีขึ้นไป สามารถนำไปใช้ก่อสร้างได้ดีทีเดียว เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง มีสีเหลืองเข้มปนน้ำตาลจนถึงดำ หรือใช้เป็นอาหาร โดยดอกและดอกอ่อนของขี้เหล็กใช้รับประทานได้ เมนูเด็ดก็นี่เลยครับ แกงขี้เหล็ก ที่ปรุงด้วยพริกแกงและกะทิ รสชาติกลมกล่อมหวานมันซ่อนขมเล็กน้อย ซึ่งรสขม ๆ ของขี้เหล็กนั้นช่วยทำให้เจริญอาหาร นอกจากนี้ ยังมีคุณค่าทางสารอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่ วิตามินเอและซี บำรุงสายตา เหงือก ฟัน กระดูก ผิวพรรณ ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรค ทำให้แผลหายเร็วขึ้น มีเบต้า-แคโรทีนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง มีเส้นใยอาหารช่วยในการขับถ่าย เป็นต้น โดยเฉพาะประโยชน์ทางด้านสมุนไพร ขี้เหล็กสามารถช่วยคลายเครียดได้ เพราะส่วนใบอ่อนและ ดอกตูมของต้นขี้เหล็กมีสารที่ชื่อว่า แอนไฮโดรบาราคอล (anhydrobarakol) ซึ่งมีสรรพคุณช่วยในการคลายความเครียด ส่วนสารอัลคาลอยด์ในใบขี้เหล็กมีฤทธิ์กล่อมประสาททำให้นอนหลับสบายขึ้น ประกอบกับ การพยายามศึกษาค้นคว้าทางการแพทย์ก็พบว่า สมุนไพรขี้เหล็กมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งช่วยคลายเครียด บรรเทาอาการจิตฟุ้งซ่าน ดังนั้น ขี้เหล็กจึงเป็นสมุนไพรที่เหมาะจะนำมาพัฒนาเป็นยาช่วยคลายเครียดได้ดี และเหมาะกับสภาพของผู้คนในปัจจุบันที่มีความเครียด วิตกกังวล นอนไม่ค่อยหลับเป็นประจำอันจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจ ทำให้ที่ผ่านมาได้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้นำสารสกัดขี้เหล็กมาใช้กับผู้ป่วย ที่มีปัญหาเป็นโรคนอนไม่หลับ 8 คน ก็พบว่า ช่วยให้นอนหลับได้ดีตลอดคืน จึงสรุปได้ว่าขี้เหล็กมีฤทธิ์เป็นยาสงบระงับได้ นอกจากนี้ ในขี้เหล็กยังมีฤทธิ์เป็นยาระบาย อ่อน ๆ ซึ่งช่วยแก้อาการท้องผูกและการขับถ่ายดีขึ้นด้วย |
สรรพคุณทางยาและวิธีใช้ - แก้อาการนอนไม่หลับ คลายกังวล ให้ใช้ใบแห้ง 30 กรัม หรือใบสด 50 กรัม ต้มกับน้ำให้เดือด รินดื่มขณะร้อนก่อนนอน หรือใช้ใบอ่อนดองเหล้าพอท่วม แช่ไว้ประมาณ 7 วัน โดยหมั่นคนบ่อย ๆ ทุกวัน เพื่อให้น้ำยาสม่ำเสมอ แล้วกรองเอากากออกดื่ม ครั้งละ 1-2 ช้อนชา ก่อนนอน ทั้งยังช่วยให้เจริญอาหาร - แก้อาการท้องผูก ใช้ใบอ่อน และแก่ประมาณ 4-5 กำมือ ต้มกับน้ำพอท่วม เติมเกลือเล็กน้อย ต้มจนน้ำเดือนประมาณครึ่งชั่วโมง ดื่มน้ำก่อนนอน หรือตื่นนอนตอนเช้าหรือก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ - แก้อาการเบื่ออาหาร ใช้ใบยอดอ่อนและดอก ต้มในน้ำเดือดโดยเคี่ยวนาน 5-10 นาที แล้วเทน้ำทิ้งและต้มใหม่ จึงนำเนื้อมาจิ้มน้ำพริกหรือทำเป็นแกงรับประทาน - หรือให้นำใบ ดอก ผล ต้นและราก ของขี้เหล็กทั้ง 5 ส่วนนี้มาต้มรวมกัน แล้วนำเฉพาะน้ำมาดื่มก็จะช่วยถ่ายพิษกระษัยและพิษไข้ได้ดี - ในด้านความสวยแล้ว ขี้เหล็กยังช่วยดูแลรักษาใบหน้าให้สวยใสจากสูตรนี้ ยอดขี้เหล็ก ? ถ้วย น้ำผึ้งแท้ ? ถ้วย และยอดมะขาม ? ถ้วย โดยนำยอดขี้เหล็กและยอดมะขามแขกมาล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วปั่นรวมกับน้ำผึ้งแท้จนละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน ก็จะได้ครีมเนื้อข้นและเหนียว ใช้สำหรับนำมาพอกหน้าที่สะอาดแล้วก่อนเข้านอน ให้พอกทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที จึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด จะรู้สึกว่าผิวหน้าสดชื่นและเต่งตึงขึ้น ทั้งนี้ควรทำเป็นประจำสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ซึ่งในเวลาไม่ถึงเดือน เราจะสังเกตเห็นว่าผิวหน้าเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น |
ข้อเสนอแนะและข้อควรระวัง 1. เมื่อนำขี้เหล็กนี้มาสมุนไพร ซึ่งใช้ในการรักษาอาการท้องผูกนั้น ห้ามใช้เป็นประจำหรือบ่อยเกินไป โดยเฉพาะเพื่อจุดประสงค์ต้องการให้รูปร่างระหง แล้วควรรับประทานยาสมุนไพรในเวลาก่อนนอน 2. ขนาดของการใช้อาจเพิ่มหรือลดลงได้เล็กน้อย ขึ้นอยู่กับ “อายุ” อย่างเด็กหรือผู้ที่มีธาตุเบา ควรใช้สมุนไพรขนาดลดลง ส่วนผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวหรอืผู้ที่มีธาตุหนัก ควรเพิ่มสมุนไพรเล็กน้อย 3. นอกจากนี้ ห้ามใช้ในบุคคลที่กำลังตั้งครรภ์แก่และผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง |
ขี้ เหล็กเป็นผักพื้นบ้านและเป็นอาหารพื้นเมืองของไทย ที่ปลูกได้ง่ายและสามารถเติบโตได้เองตามธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องดูแลเอาใจ ใส่มากนัก จึงเป็นยาสมุนไพรที่ปลอดสารพิษมากคุณค่าทางสารอาหารและยา เราจึงควรหันมาส่งเสริมการบริโภคให้แพร่หลายมากขึ้น |